ประกาศสาสน์เพื่อการแพร่ธรรม

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ประกาศ สาสน์อภิบาลสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
เรื่องปีแห่งการแพร่ธรรม
 
 
 อวยพรมายังพี่น้องคริสตชนที่รักทั้งหลาย

การชุมนุมงานแพร่ธรรมในทวีปเอเชียครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 33 เป็นการชุมนุมที่พระเยซูเจ้าชาวเอเชีย ได้เชิญชาวเอเชีย 11 คนไปชุมนุมกันยังภูเขาที่แคว้นกาลิลี ณ ที่นั่นเอง คือ จุดเริ่มต้นของการเริ่มงานแพร่ธรรมไปทั่วเอเชีย และทั่วโลก “เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่า เราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:19-20) นักบุญมาระโก ยังได้บันทึกต่อไปว่า “บรรดาศิษย์ก็แยกย้ายกันออกไปเทศนาสั่งสอนทั่วทุกแห่งหน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานกับเขา และทรงรับรองคำสั่งสอนโดยอัศจรรย์ที่ติดตามมา” (มก 16:20) พวกเราบรรดาศิษย์ของพระองค์ในสมัยปัจจุบัน ก็ได้พยายามสืบทอดการแพร่ธรรมต่อเนื่องเสมอมา

สภาสังคายนาวาติกันที่สอง ย้ำเตือนสมาชิกในพระศาสนจักรว่า คริสตชนทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาป และศีลกำลังแล้วเป็นผู้แพร่ธรรม พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ตรัสในพระสมณสาสน์ “พระพันธกิจขององค์พระผู้ไถ่” (Redemptoris Missio, 7 ธันวาคม 1990)  เรื่องคุณค่าถาวรของบทบัญญัติการแพร่ธรรม ว่า “พันธกิจการแพร่ธรรมเป็นการฟื้นฟูพระศาสนจักรขึ้นใหม่  เพิ่มพลังแห่งความเชื่อ และเน้นเอกลักษณ์ของชาวคริสต์ ก่อให้เกิดความกระตือรือร้น   และแรงกระตุ้นใหม่   ความเชื่อย่อมมั่นคงขึ้น เมื่อเราให้ความเชื่อออกไป” (ข้อ 2) พระองค์ยังได้ทรงกล่าวในเชิงท้าทายอีกว่า “เราจะมีดวงจิตสงบนิ่งไปไม่ได้  เมื่อนึกถึงพี่น้องชายหญิงของเราอีกเป็นล้านๆคน ซึ่งได้รับการไถ่โทษแล้ว  ด้วยพระโลหิตของพระคริสต์เช่นกัน แต่ยังมีชีวิตอยู่ในความไม่รู้ถึงความรักของพระเจ้า สำหรับคริสตชนแต่ละคน เช่นเดียวกับสำหรับพระศาสนจักรทั้งมวล ภาระหน้าที่ในการแพร่ธรรมจักต้องมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง  เพราะเกี่ยวกับชะตานิรันดรของมนุษย์ และเป็นการสนองตอบอย่างสอดคล้องกับแผนการอันลึกล้ำ และเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเป็นเจ้า” (ข้อ 86)

ก่อนจะก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ โอกาสที่พระสังฆราชแห่งเอเชียได้ประชุมสมัชชา พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้กล่าวให้ข้อคิดในพระสมณสาสน์ “พระศาสนจักรในเอเชีย” (Ecclesia in Asia , 6 พฤศจิกายน 1999) ว่า “ในสหัสวรรษที่หนึ่ง กางเขนได้ถูกปักไว้ในดินแดนของยุโรป  และในสหัสวรรษที่สองได้ถูกปักไว้บนแผ่นดินของอเมริกาและแอฟริกาฉันใดก็ฉันนั้น  เราสามารถอธิษฐานภาวนาได้ว่า ในสหัสวรรษที่สาม ผลิตผลอันยิ่งใหญ่แห่งความเชื่อ จะได้รับการเก็บเกี่ยวในทวีปเอเชียที่กว้างใหญ่และสำคัญนี้” (ข้อ 1) พระองค์ได้ทรงกล่าวด้วยความชื่นชมว่า “เราขอสรรเสริญพระเป็นเจ้าสำหรับวัฒนธรรม  ภาษา ประเพณี  และความเอื้ออาทรในเรื่องศาสนา ซึ่งมีอยู่มากมายในทวีปอันยิ่งใหญ่นี้ ขอนมัสการสรรเสริญพระเป็นเจ้า  สำหรับประชาชนชาวเอเชีย…ซึ่งต้องการพระเยซูคริสตเจ้า และพระวรสารของพระองค์ เอเชียกำลังกระหายหาน้ำที่ให้ชีวิต  ซึ่งพระเยซูเจ้าเท่านั้นประทานให้ได้ ความปีติยินดีหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรก็คือ การแบ่งปันพระพรอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับ กล่าวคือ ความรักของพระเยซูเจ้า องค์พระผู้ไถ่แก่ประชากรชาวเอเชียเป็นจำนวนมากมาย  ความตั้งใจหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรก็คือ การสืบสานพันธกิจแห่งการรับใช้และความรักของพระองค์ เพื่อให้ชาวเอเชียทั้งหมด “ได้มีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์”  (ข้อ 50)

พี่น้องทุกคนทราบดีว่า ปีแห่งศีลมหาสนิท ซึ่งเริ่มในวันเคารพศีลมหาสนิทระดับโลกที่เมืองกวาดาลาฮารา ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม ค.ศ. 2004 และจะจบลงพร้อมกับการประชุมสมัชชาพระสังฆราช  ที่กรุงโรม  ในวันที่ 2-29 ตุลาคม ค.ศ. 2005นี้ ขอให้หัวข้อที่ว่า “ศีลมหาสนิท บ่อเกิดและผลสมบูรณ์สุดยอดของชีวิตและงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร” ทำให้พี่น้องทุกคนตระหนักอยู่เสมอว่า คริสตชนทุกคนมีพันธกิจ โดยเฉพาะพันธกิจแห่งการแพร่ธรรม ซึ่งมีบ่อเกิดจากศีลมหาสนิทนี้เอง

สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชียสำนักงานการประกาศพระวรสารได้กำหนดจัดงานชุมนุมเพื่อการแพร่ธรรมของทวีปเอเชีย (Asian Mission Congress) ระหว่างวันที่ 19 - 22 ตุลาคม  ค.ศ. 2006 หัวข้อ “บอกเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าให้ชาวเอเชีย” และขอให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการชุมนุม โดยคาดหวังว่าจะมีพระสังฆราช  พระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง ครูคำสอน เยาวชน และผู้ร่วมงานกิจกรรมคาทอลิก จาก 23 ประเทศเป็นจำนวน 700 คน และผู้แทนจากประเทศไทยอีกประมาณ 300 คน รวมทั้งสิ้น 1,000 คน มาร่วมงานครั้งนี้
เพื่อเป็นการเตรียมคริสตชนชาวไทยร่วมชุมนุมระดับทวีปเอเชีย เรื่องการแพร่ธรรมนี้ จึงขอให้ทุกคนร่วมใจกันรณรงค์ให้เยาวชน  เด็ก และประชากรของพระเจ้า ในแต่ละสังฆมณฑลมีสำนึกในงานแพร่ธรรม มิใช่แค่จัดกิจกรรมภายนอกเท่านั้น แต่ให้เน้นเรื่องการภาวนา และการดำเนินชีวิตเชิงประจักษ์ของแต่ละคนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

ในระดับสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ขอให้กรรมาธิการฝ่ายงานธรรมทูตและการศึกษาอบรม พร้อมกับองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรมของสันตะสำนักในประเทศไทย(PMS) จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการขึ้น ขอให้ทุกหน่วยงานและพี่น้องทุกคน ร่วมมือกันรับผิดชอบในการจัดการรณรงค์ ปีแห่งการแพร่ธรรมในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ.2005 - ตุลาคม ค.ศ. 2006 โดยจัดงานชุมนุมเพื่อการแพร่ธรรมระดับชาติ วันที่ 11-12 สิงหาคม  ค.ศ.  2006 ณ บ้านเณรใหญ่แสงธรรม สามพราน เพื่อนำไปสู่งานชุมนุมระดับทวีปเอเชียซึ่งจะจัดให้มีความหมายมากขึ้น

เราหวังว่า ปีแห่งการแพร่ธรรมนี้ จะเป็นโอกาสดีที่จะปลุกจิตสำนึกสมาชิกในชุมชนของเราเรื่องงานแพร่ธรรม ร่วมมือกับศาสนิกอื่น สร้างความสมานฉันท์ และความผาสุกในชุมชนของเราตลอดไป

ขอพระแม่มารีย์ ผู้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ องค์อุปถัมภ์ของประเทศไทย   ช่วยวิงวอนเพื่อเราทุกคนด้วยเทอญ


                                                                                                         (พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร   สันติสุขนิรันดร์)
                                                                                                     ประธานฝ่ายงานธรรมทูตและการอบรมศึกษาคาทอลิก

                                                                                                                             (พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู)
                                                                                                                                 ประธานสภาพระสังฆราชคา                                                                                                                                                                                                                     1 ตุลาคม 2005