ความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักรกับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา Nostra aetate

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ศาสนายิว

4. เมื่อใคร่ครวญดูเหตุการณ์ลึกล้ำเรื่องพระศาสนจักรสภาสังคายนาระลึกถึงสายสัมพันธ์ฝ่ายจิตที่ผูกโยงประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่กับเชื้อชายของอับราฮัม แท้จริงพระศาสนจักรและพระคริสตเจ้ารับว่า ตามแผนการลึกล้ำของพระเป็นเจ้า เรื่องความรอด ความเชื่อ และการได้รับเลือกสรรของพระศาสนจักรมีต้นเดิมมาจากบรรดาอัยกาโมเสสและบรรดาประกาศก พระศาสนจักรขอรับว่าสัตบุรุษทุกคนของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นบุตรของอับราฮัมตามความเชื่อนั้น ( ดู กท. 3.7) ต้องนับรวมเข้าอยู่ในกระแสเรียกของท่านอัยกาผู้นี้และความรอดของพระศาสนจักรก็มีรูปหมายถึงอย่างลึกซึ้งมาก่อนด้วยการที่ประชากรที่ได้รับเลือกสรรออกจากดินแดนที่ตนเป็นทาส

ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรลืมไม่ได้ว่าพระศาสนจักรได้รับการเปิดเผยในพันธสัญญาเดิมโดยอาศัยชนชาตินี้ ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทรงทำพันธสัญญาเดิมด้วย เพราะมีพระทัยเมตตาเหลือที่จะกล่าวได้. พระศาสนจักรลืมไม่ได้ว่าพระศาสนจักรเลี้ยงตัวด้วยอาหารจากรากมะกอกที่ปลูกไว้ด้วยความทะนุถนอมมีกิ่งมะกอกป่ามาต่อซึ่งหมายถึงคนต่างศาสนา (ดู รม. 11 : 17-24) พระศาสนจักรถือว่าพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นองค์สันติภาพของเราทรงใช้กางเขนของพระองค์ทำให้พวกยิวและคนนอกศาสนากลับคืนดีกัน และทรงทำให้คนสองพวกนี้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระองค์ ( ดู อฟ. 2 : 14-16)

พระศาสนจักรนึกอยู่เสมอถึงวาทะที่อัครธรรมทูตเปาโลกพูดถึงชนชาติเดียวกันซึ่ง “ได้รับเลือกสรรเป็นบุตรบุญธรรม ได้ รับเกียรติมงคล พันธสัญญาต่าง ๆ ธรรมบัญญัติ คารวกิจ และพระสัญญาต่าง ๆ เขาสืบมาจากบรรดาอัยกาและพระคริสตเจ้าทางฝ่ายเนื้อหนังก็สืบมาจากพวกเขา” (รม. 9:4-5) เป็นพระโอรสของพระนางพรหมจารีมารีย์ พระศาสนจักรยังขอเตือนให้สำเหนียกด้วยว่า บรรดาอัครธรรมทูตซึ่งเป็นรากฐานและหลักมั่นของพระศาสนจักร ตลอดจนศิษย์หมู่แรกเป็นจำนวนมากที่ประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าแก่โลก ก็เกิดมาจากชนชาติยิว

ตามข้อความในพระคัมภีร์ กรุงเยรูซาเล็มไม่รู้เวลาที่พระเป็นเจ้าเสด็จมายังกรุง (ดู ลก. 19:44) พวกยิวเป็นส่วนมากไม่ยอมรับข่าวดีและคนยิวที่ขัดขวางมิให้ข่าวดีแพร่หลายก็มีอยู่ไม่น้อย (ดู รม. 11:18) ถึงกระนั้นก็ดีตามความเห็นของอัครธรรมทูตเปาโล เพราะเห็นแก่บรรพบุรุษของพวกยิว พวกยิวก็ยังคงเป็นที่โปรดปรานยิ่งของพระเป็นเจ้า พระองค์ประทานสิ่งใดหรือเรียกใครแล้วก็ไม่นึกเสียพระทัยภายหลัง. พร้อมกับบรรดาประกาศกและอัครธรรมทูตองค์เดียวกันนี้ พระศาสนจักรคอยวันที่พระเป็นเจ้าทรงทราบแต่พระองค์เดียว คือวันที่ทุกชาติจะอ้อนวอนเจ้าพระคุณเป็นเสียงเดียวกันและ “จงรับใช้พระองค์ภายใต้แอกเดียวกัน” (ปชญ. 3:9 ดู อสย. 66:23; สดด. 65:4; รม. 11: 11-32)

โดยที่พวกคริสตชนและชาวยิวมีมรดกฝ่ายจิตใจที่ประเสริฐยิ่งร่วมกันฉะนี้ พระสังคายนาใคร่ขอเตือนและกำชับให้ทั้งสองฝ่ายทำความรู้จักและมีความเข้าใจนับถือกันและกัน. ทั้งสองสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยการศึกษาพระคัมภีร์และเทวศาสตร์กับด้วยการเจรจาสังสรรค์กันอย่างฉันพี่น้องเป็นต้น

แม้ผู้มีอำนาจของชาวยิวบางคนกับพรรคพวกผู้ให้ประหารชีวิตพระคริสตเจ้าก็ดี (ดู ยน. 19:6) แต่สิ่งที่เขาได้กระทำในระหว่างการรับทรมานของพระองค์นั้น จะยกมาเอาผิดกับชาวยิวทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นโดยไม่เลือกหรือชาวยิวในสมัยของเรานี้หาได้ไม่. ถ้าหากเป็นความจริงว่าพระศาสนจักรเป็นประชากรใหม่ของพระเป็นเจ้า ก็ไม่ควรจะถือว่าชาวยิวเป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าประณามและสาปแช่ง เหมือนกับว่าเป็นผลจากพระคัมภีร์ ฉะนั้นเวลาอธิบายคำสอนและเทศน์สอนพระวาจาของพระเป็นเจ้า ขอให้ทุกคนระวังอย่าสอนอะไรที่ผิดต่อความจริงเรื่องข่าวดีและจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้า

นอกจากนี้ พระศาสนจักรไม่เห็นชอบกับการเบียดเบียนรังแกมนุษย์ทุกชาติชั้นวรรณะไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม. เนื่องจากไม่สามารถจะลืมมรดกซึ่งมีร่วมกันกับชาวยิว กับทั้งกระตุ้นเตือนมิใช่ด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่ด้วยความรักตามแบบที่พระวรสารสอน พระศาสนจักรขอประณามความเกลียดชัง การเบียดเบียนข่มเหงและการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติเสมิติกซึ่งกระทำต่อชนชาติยิวทุกครั้ง ไม่ว่าจะกระทำในสมัยใดและใครจะเป็นผู้กระทำก็ตาม

อนึ่งตามที่พระศาสนจักรเคยเชื่อเสมอและก็ยังเชื่ออยู่พระคริสตเจ้าเพราะความรักอันใหญ่หลวงหาที่สุดมิได้ทรงยอมรับทรมานและสิ้นพระชนม์เพราะบาปของมนุษย์ทุกคน และเพื่อให้มนุษย์ทุกคนบรรลุถึงความรอด.ฉะนั้นหน้าที่ของพระศาสนจักรในการประกาศเทศน์ถึงต้องประกาศว่ากางเขนของพระคริสตเจ้าเป็นเครื่องหมายแสดงความรักทั่วไปของพระเป็นเจ้าและเป็นบ่อเกิดแห่งพระคุณทั้งปวง