ประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบัน

Evangelii Nuntiandi

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สาระของการประกาศพระวรสาร

สาระสำคัญและส่วนประกอบชั้นรอง

25.ในสาส์นที่พระศาสนจักรประกาศนั้น แน่นอนมีส่วนประกอบชั้นรองอยู่เป็นอันมาก การที่จะนำส่วนประกอบเหล่านี้มาพูดก็ย่อมสุดแล้วแต่กรณีแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และส่วนประกอบเหล่านี้เองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ก็มีสาระสำคัญหรือเนื้อแท้ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่พูดถึงไม่ได้มิฉะนั้นจะทำให้ลักษณะของการประกาศพระวรสารเสียไปอย่างร้ายแรง

ยืนยันถึงความรักของพระบิดา

26. จำเป็นต้องเตือนให้สำเหนียกไว้ว่า ประกาศพระวรสารก่อนอื่นคือ ประกาศยืนยันอย่างซื่อๆ และชัดเจนถึงพระเป็นเจ้า ซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงไขแสดงให้เรารู้ โดยประกาศว่าพระเป็นเจ้าทรงรักโลกในองค์พระบุตร และอาศัยพระวจนาตถ์ผู้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ผู้ได้ให้ชีวิตแก่สรรพสิ่งและเรียกมนุษย์เข้าสู่ชีวิตนิรันดร การกล่าวยืนยันถึงพระเป็นเจ้าเช่นนี้อาจทำให้หลายๆ คนนึกถึงพระเจ้าที่ไม่รู้จัก (เทียบ กจ 17 : 22-23) ซึ่งเขากราบไหว้โดยมิได้ขานนามให้หรือแสวงหาตามเสียงเรียกร้องลับๆ ในใจ เมื่อเขามองเห็นความไร้สาระของสิ่งเย้ายวนต่างๆ ในโลก แต่การกล่าวยืนยันเช่นนี้นับเป็นการประกาศพระวรสารอย่างแท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า สำหรับมนุษย์นั้นไม่ใช่อำนาจอย่างหนึ่งที่ไม่มีชื่อและอยู่ห่างไกล แต่เป็นบิดา “เราได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า และเราก็เป็นเช่นนั้นจริง” (1 ยน 3: 1; เทียบ รม 8: 14-17) ด้วยเหตุผลที่ว่า เราเป็นพี่น้องกันในองค์พระผู้เป็นเจ้า

แก่นของคำสอนก็คือเรื่องความรอดในองค์พระเยซู

27. ในการประกาศพระวรสาร จะต้องมีการประกาศอย่างแจ่มแจ้งทุกครั้งซึ่งการประกาศเช่นนี้ ต้องนับเป็นพื้นฐานศูนย์กลาง และจุดสุดยอดของพลังในการประกาศพระวรสารเองในองค์พระเยซูคริสตเจ้าผู้เสด็จมาเป็นมนุษย์สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนม์นั้น ความรอดหลุดพ้นได้ถูกนำมามอบให้แก่ทุกคน อันเป็นดังของขวัญแห่งพระพรและพระเมตตาของพระเป็นเจ้าของ (เทียบ อฟ 2:8; รม 1 : 16) ความรอดนี้ไม่ใช่ความรอดในระดับชาติที่สนองความต้องการทางฝ่ายกายหรือแม้ทางฝ่ายจิตอันจำกัด อยู่แต่ในวงชีวิตในโลกและที่แท้ก็เป็นแต่ความปรารถนา ความหวัง กิจธุระ และการสู้รบในโลกนั้นเอง แต่เป็นความรอดที่เลยล้ำสิ่งอันมีขอบเขตเหล่านี้ เพื่อเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ไปในความร่วมชิดสนิทกับสัมบูรณัตต์ (Absolute) พระเจ้าเดียวผู้เป็นความรอดซึ่งอยู่เหนือระดับธรรมชาติ และเกี่ยวกับอวสานศาสตร์ (Eschatological) เป็นความรอดที่เริ่มในชีวิตนี้ก็จริง แต่เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ไปในชีวิตนิรันดร

ประกาศให้มีความหวัง

28. ด้วยเหตุนี้ การประกาศพระวรสารจะขาดเสียมิได้ซึ่งการกล่าวถึงชีวิตหน้า ซึ่งเป็นกระแสเรียกสูงสุดและนิรันดรของมนุษย์ ซึ่งทั้งกำลังอยู่ทั้งกำลังขาดจากสภาพในปัจจุบัน เป็นกระแสเรียกนี้ที่อยู่พ้นเวลาและประวัติศาสตร์ อยู่พ้นสภาพของโลกนี้ซึ่งจะผ่านพ้นไป อยู่พ้นสรรพสิ่งในโลกนี้ ซึ่งมีรูปโฉมประการหนึ่งปิดบังลับอยู่ แต่จะเผยออกในวันหนึ่งข้างหน้า อยู่พ้นมนุษย์เอง ซึ่งชะตากรรมแท้จริงของเขาจะไม่สมบูรณ์ในสภาพของชีวิตนี้ แต่จะเผยให้รู้ในชีวิตหน้า (เทียบ 1 ยน 3 :2; รม 8 :29; ฟป 3 : 20,21; เทียบสังฆธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักร ข้อ 48-51) เพราะฉะนั้นการประกาศพระวรสาร จะต้องประกาศให้มีความหวังในคำสัญญาต่างๆ ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงให้ไว้ในพันธสัญญาใหม่ โดยองค์พระเยซูคริสตเจ้า ต้องประกาศความรักที่พระเป็นเจ้ามีต่อเรา และเรามีต่อพระเป็นเจ้า ต้องประกาศความรักฉันพี่น้องต่อมนุษย์ทุกคนคือ รู้จักให้ และให้อภัย เสียสละตนเองและช่วยเหลือพี่น้องซึ่งความรักต่อมนุษย์ทุกคนนี้ โดยที่สืบเนื่องมาจากความรักของพระเป็นเจ้า จึงเป็นแก่นสำคัญของพระวรสาร การประกาศพระวรสารรวมไปถึงการเทศน์สอนธรรมอันล้ำลึกของความเลวร้ายและของการแสวงหาความดีอย่างขะมักเขม้น

นอกจากนั้นและเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนเสมอ ต้องประกาศการแสวงหาพระเป็นเจ้าเองด้วยการภาวนา ซึ่งเป็นการภาวนาแบบนมัสการ และขอบพระคุณเป็นต้นและด้วยความร่วมชิดสนิทกับพระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้า อันเป็นเครื่องหมายที่เห็นได้และแสดงว่าได้พบกับพระเป็นเจ้าแล้ว ความร่วมชิดสนิทกับพระศาสนจักรดังกล่าว สำแดงออกด้วยการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อันเป็นเครื่องหมายอื่นของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงดำรงพระชนม์และทรงปฏิบัติการอยู่ในพระศาสนจักร การเจริญชีวิตในศีลศักดิ์สิทธิ์อันเป็นท่อธารแห่งชีวิตคริสตชนที่สมบูรณ์นั้น ไม่ใช่เป็นการขัดขวางหรือบิดเบือนงานประกาศพระวรสารที่บางคนกล่าวอ้าง แต่เป็นการทำให้งานประกาศพระวรสารสมบูรณ์ครบถ้วน เพราะงานประกาศพระวรสารทั้งหมดนั้นนอกจากการประกาศสอนต่างๆ แล้ว ยังได้แก่การปลูกฝังพระศาสนจักรด้วย อันว่าพระศาสนจักรนั้นจะดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีแรงบันดาลใจที่เกิดจากชีวิตของศีลศักดิ์สิทธิ์ อันมีจุดสุดยอดที่บูชาโมทนาคุณ
คำสอนเกี่ยวกับชีวิตทั้งชีวิต

29. แต่การประกาศพระวรสารจะไม่สมบูรณ์ถ้าไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์จริงและถาวรระหว่างพระวรสารกับชีวิตของมนุษย์ ทั้งในทางส่วนตัวและในทางสังคม เพราะเหตุนี้ในการประกาศพระวรสารจึงมีคำสอนที่กล่าวอย่างชัดเจนเหมาะกับภาวนการณ์ต่างๆ และทันสมัยอยู่เสมอเกี่ยวกับสิทธิ์และหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวซึ่งถ้าไม่มีชีวิตนี้แล้วความเจริญพัฒนาส่วนตัวเกือบจะมีขึ้นไม่ได้ (สังฆธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ข้อ 47 -52) เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม เกี่ยวกับชีวิตระหว่างชาติ สันติสุข ความยุติธรรม และการพัฒนา นี่เป็นคำสอนที่เหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับยุคนี้เกี่ยวกับการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ

คำสอนเกี่ยวกับเรื่องช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ

30. ในที่ประชุมสมัชชาพระสังฆราชครั้งที่แล้ว พระสังฆราชหลายต่อหลายองค์จากทุกทวีปได้พูดว่าอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะพระสังฆราชที่มาจากโลกที่สามได้กล่าวอย่างนายชุมพาที่เป็นกระบอกเสียงให้ลูกๆ จำนวนล้านๆ คนของพระศาสนจักรของชนจากโลกนั้น ชนเหล่านี้พยายามและต่อสู้อย่างสุดกำลังที่จะเอาชนะทุกสิ่ง ที่ทำให้เขาอยู่อย่างหมดอาลัยตายอยากในชีวิต กล่าวคือ ความอดอยาก โรคเรื้อรัง ความไม่รู้หนังสือ ความแร้นแค้น ความอยุติธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างชาติโดยเฉพาะในด้านการค้า การล่าเมืองขึ้นแบบใหม่ในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งบางครั้งโหดร้ายเท่ากับการล่าเมืองขึ้นในทางการเมืองสมัยก่อนด้วยซ้ำ บรรดาพระสังฆราชย้ำว่า พระศาสนจักรมีหน้าที่ต้องประกาศการปลดปล่อยมนุษย์เป็นจำนวนล้านๆ คนให้เป็นอิสระ โดยหลายๆ คนในจำนวนคนเหล่านั้นเป็นลูกของพระศาสนจักรเอง พระศาสนจักรมีหน้าที่ต้องช่วยให้การกอบกู้นี้เกิดขึ้น ต้องเป็นพยานและต้องจัดการให้เรื่องนี้เป็นผลอย่างสมบูรณ์ เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่นอกขอบข่ายของการประกาศพระวรสาร

จำเป็นต้องสัมพันธ์กับการส่งเสริมฐานะมนุษย์

31. การประกาศพระวรสารกับการส่งเสริมฐานะมนุษย์หรืออีกนัยหนึ่งการพัฒนา และช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้ง มีความสัมพันธ์กันทางด้านมานุษยวิทยาเพราะมนุษย์ที่จะรับการประกาศพระวรสารนั้นไม่ใช่คนลอยๆ แต่ขึ้นอยู่กับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ มีความสัมพันธ์ทางด้านเทววิทยาเพราะจะแยกแผนการเนรมิตสร้างมนุษย์จากแผนการไถ่บาปไม่ได้ ด้วยแผนการไถ่บาปนั้นมุ่งต่อต้านสภาพความอยุติธรรมและฟื้นฟูสภาพความยุติธรรมขึ้น มีความสัมพันธ์กันในด้านพระวรสารซึ่งเป็นด้านความรัก เพราะจะประกาศพระบัญญัติใหม่ โดยไม่ส่งเสริมให้มนุษย์เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงตามความยุติธรรมและด้วยความสงบสุขได้อย่างไร

เราเองได้พยายามเอาเป็นธุระที่จะชี้แจงเรื่องนี้ โดยเตือนให้สำเนียกว่า จะยอมไม่ได้ที่จะให้ “งานประกาศพระวรสารละเลยปัญหาต่างๆ อาทิ ความยุติธรรม การช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ การพัฒนาและสันติสุขในโลก : ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งยวดและสับสนปั่นป่วนยิ่งนักในทุกวันนี้ ถ้ามีอันเป็นไปดังนี้ ก็เท่ากับไม่รู้คำสอนของพระวรสารเรื่องให้รักเพื่อนมนุษย์ที่มีความทุกข์ยากหรืออยู่ในความขัดสน” (พระดำรัสของพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ในโอกาสเปิดการประชุมสมัชชาพระสังฆราชครั้งที่สาม วันที่ 27 กันยายน 1974)

ในสมัชชาดังกล่าว ได้มีผู้พูดถึงปัญหาร้อนแรงนี้ด้วยความกระตือรือร้น เฉลียว ฉลาดและกล้าหาญ ก็ดีแล้ว เรามีความชื่นชมปีติอย่างยิ่ง ที่ท่านเหล่านั้นเองก็ได้ให้หลักเกณฑ์แจ่มแจ้งสำหรับเข้าใจความสำคัญและความหมายลึกซึ้งของการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ ในแบบที่พระเยซูแห่งนาซาเร็ธได้ทรงประกาศและปฏิบัติอีกทั้งพระศาสนจักรก็ประกาศสอน
ไม่มีการลด และไม่มีความคลุมเครือ

32.เราต้องยอมรับว่า มีคริสตชนหลายๆ คนเป็นคนใจกว้างและอ่อนไหวต่อปัญหาหนักหน่วงต่างๆ เกี่ยวกับการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ คริสตชนเหล่านี้อยากกระตุ้นให้พระศาสนจักรพยายามกอบกู้ให้มนุษย์เป็นไท จึงเกิดมีความนึกอยากจะลดภารกิจของพระศาสนจักรให้เป็นแต่ความคิดที่ถือมนุษย์เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ลดความรอดซึ่งพระศาสนจักรเป็นผู้บอกข่าวให้ เป็นเพียงการกินดีอยู่ดีทางกาย ลดงานของพระศาสนจักรซึ่งลืมความห่วงใยทางวิญญาณและศาสนาเสีย ให้เป็นเพียงความคิดริเริ่มทางการเมืองและทางสังคม แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ พระศาสนจักรก็จะสูญเสียความหมายอันสำคัญยิ่งของตนไป คำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระก็จะไม่มีเอกลักษณ์ต่อไป และในที่สุดก็จะถูกระบบลัทธิและพรรคการเมืองครอบงำและใช้เป็นเครื่องมือได้โดยง่าย พระศาสนจักรจะไม่มีอำนาจอีกต่อไปที่จะประกาศการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระในนามของพระเป็นเจ้า

เพราะฉะนั้น เราจึงใคร่เน้นเหมือนในคำปราศรัยของเราเมื่อเปิดการประชุมสมัชชาพระสังฆราชครั้งที่สามถึง “ความจำเป็นต้องยืนยันอย่างแจ่มแจ้งอีกครั้งหนึ่งว่าการประกาศพระวรสารมีจุดมุ่งทางศาสนาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องประกาศพระวรสารอีกต่อไป ถ้าถอยห่างออกจากแกนฐานทางศาสนาที่ยึดถืออยู่ คือ “พระราชัยของพระเป็นเจ้าต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ตามหลักธรรมทางเทววิทยา”

ความเป็นอิสระตามแนวพระวรสาร

33. เกี่ยวกับการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ ซึ่งการประกาศพระวรสารพยายามกระทำ เราขอกล่าวว่า:

- การช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระนั้นจะเป็นไปเพียงในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือวัฒนธรรมเท่านั้นไม่ได้แต่จะต้องมุ่งถึงมนุษย์ทุกๆ ด้าน รวมทั้งด้านการติดต่อกับพระเป็นเจ้าองค์ สัมบูรณัตต์ด้วย

- ฉะนั้น การช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระจึงสัมพันธ์กับความคิดเห็นนั้นเราจะทิ้งไม่ได้ โดยอ้างว่า จะปรับตัวให้เหมาะกับการปฏิบัติหรือผลประโยชน์บางอย่างซึ่งมีอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

พระราชัยของพระเป็นเจ้าแก่นแท้ของความอิสระ

34. ฉะนั้น เมื่อประกาศการช่วยให้เป็นอิสระและเข้าร่วมกับบรรดาผู้ที่ทำงานและต้องทนทุกข์เพราะเรื่องนี้ พระศาสนจักรทั้งๆ ที่ไม่ยอมรับว่าตนมีภารกิจเพียงใดด้านศาสนาแล้วก็ผละจากปัญหาทางโลกของมนุษย์เสีย แต่ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า หน้าที่ฝ่ายวิญญาณของตนมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ทั้งไม่ยอมเปลี่ยนการประกาศพระราชัยของพระเป็นเจ้าเป็นการประกาศการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระในรูปต่างๆ ทางโลก พระศาสนจักรยังประกาศด้วยว่า การที่ตนมีส่วนร่วมในการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระนั้นจะไม่สมบูรณ์ถ้าละเลยการประกาศพันธสัญญาใหม่อาศัยบารมีของพระเยซูคริสเจ้า

ความเห็นของพระวรสารเกี่ยวกับมนุษย์

35. พระศาสนจักรถือว่า การช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระกับการที่มนุษย์รอดในพระเยซูคริสตเจ้านั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน แต่ไม่เคยถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันเพราะรู้โดยการเปิดเผยของพระเป็นเจ้า โดยประสบการณ์ในประวัติศาสตร์และการพิจารณาความเชื่อ ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระไม่จำเป็นจะต้องตรงกับความเห็นของพระวรสารเกี่ยวกับมนุษย์วัตถุสิ่งของ และเหตุการณ์ต่างๆ พระศาสนจักรทราบว่าการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ และจัดให้มีความเป็นอยู่ดีความเจริญก้าวหน้านั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอสำหรับให้พระราชัยของพระเป็นเจ้ามาถึง

ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรมีความเชื่อว่า การช่วยในทุกรูปแบบให้มนุษย์เป็นอิสระทางโลกและทางการเมืองนั้นถึงแม้จะอ้างข้อความในหนังสือพันธสัญญาเดิมหรือใหม่หน้านั้นหน้านี้ว่าเป็นการชอบแล้ว ถึงแม้จะอ้างข้อมูลและข้อสรุปทางเทวศาสตร์สนับสนุนหลักลัทธิและการกระทำ ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นเทวศาสตร์สำหรับยุคปัจจุบันก็ตามย่อมมีเชื้อที่จะทำลายตนเอง และจะไม่บรรลุถึงอุดมการณ์ที่คิดหมายไว้ ตราบใดที่มูลแหตุแท้จริงมิใช่มูลเหตุที่เกิดจากความยุติธรรม อาศัยความรัก ตราบใดที่ความกระตือรือร้นขาดความหมายฝ่ายจิตอย่างแท้จริง และตราบใดจุดหมายปลายทางมิใช่ความรอดและความสุขนิรันดรในพระเป็นเจ้า

จำเป็นต้องมีการกลับใจ

36. แน่นอน พระศาสนจักรถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่จะต้องสร้างโครงร่างที่มีมนุษยธรรมและความยุติธรรมยิ่งขึ้น เคารพสิทธิ์ของบุคคลมากขึ้น กดขี่และบังคับเยี่ยงทาสน้อยลง แต่พระศาสนจักรก็สำนึกดีว่า โครงร่างที่ดีที่สุดหรือระเบียบที่คิดขึ้นอย่างดีที่สุดนั้น มิช้าก็จะเหี้ยมเกรียมขึ้นถ้าความโน้มเอียงไปในความโหดร้ายของจิตใจมนุษย์มิได้รับการชำระขัดเกลา ถ้าผู้ที่บังคับหรืออยู่ในโครงสร้างนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงจิตใจและทัศนคติเสีย

ปราศจากการใช้กำลัง

37. การใช้กำลัง เป็นต้น กำลังทางอาวุธซึ่งควบคุมไม่ได้เมื่อใช้ไปแล้วตลอดจนการฆ่าบุคคลใดๆ นั้นพระศาสนจักรจะยอมรับเป็นวิธีช่วยปลดปล่อยไม่ได้ เพราะรู้อยู่ว่า การใช้กำลังย่อมทำให้เกิดการใช้กำลังตอบเสมอ ยิ่งกว่านั้นยังทำให้เกิดการกดขี่และตกเป็นทาสแบบใหม่ๆ ซึ่งร้ายยิ่งกว่าแบบที่เขาอ้างจะช่วยให้พ้นเสียอีก ระหว่างที่เดินทางไปประเทศโคลัมเบีย เราได้กล่าวอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า “ที่สุด ขอเตือนพวกท่าน จงอย่าตั้งความหวังไว้ในการใช้กำลังบังคับและการทำปฏิวัติเลย เพราะนั่นผิดจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้าและแทนที่จะส่งเสริม ก็กลับจะหยุดยั้งการยกระดับสังคม ซึ่งพวกท่านก็ใฝ่ฝันหาโดยชอบแล้ว“ “เราต้องกล่าวและยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การใช้กำลังบังคับไม่ถูกหลักและคริสต์ศาสนาและหลักพระวรสารทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ อย่างหุนหันและรุนแรงนั้นมักเป็นการหลอกลวง ไม่เกิดผล และแน่นอนไม่คู่ควรกับศักดิ์ศรีของประชาชน”

พระศาสนจักรมีส่วนช่วยเป็นพิเศษ

38. เมื่อกล่าวเรื่องนี้แล้ว เรามีความปิติชื่นชม ที่พระศาสนจักรมีความสำนึกดียิ่งขึ้นถึงวิธีถูกต้องและถูกหลักพระวรสารทีเดียว ที่จะร่วมมือในการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ พระศาสนจักรทำอะไร พระศาสนจักรพยายามยิ่งขึ้นเป็นลำดับที่กระตุ้นเตือนคริสตชนเป็นจำนวนมากให้อุทิศตนเพื่อช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระ พระศาสนจักรจัดให้คริสตชน “ผู้ช่วยมนุษย์ให้เป็นไท” ได้รับแรงดลใจจากความเชื่อแรงดันจากความรักต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์และคำสอนเกี่ยวกับสังคมซึ่งผู้เป็นคริสตชนอย่างแท้จริงจะไม่รู้ไม่ได้ และจะต้องเป็นรากฐานความฉลาดและประสบการณ์ของตนเพื่อจะได้แสดงออกมาเป็นการกระทำ การมีส่วนร่วม และการอุทิศตน ลักษณะทั้งหมดนี้ต้องเป็นลักษณะจิตตารมณ์ของคริสตชนผู้อุทิศตน อย่าเอาไปปนกับท่าทีมีชั้นเชิงหรือการรับใช้ของระบบการเมือง พระศาสนจักรพยายามอยู่เสมอที่จะแทรกการต่อสู้ของคริสตชนเพื่อกอบกู้มนุษย์ให้เป็นอิสระ เข้าไปในแผนความรอดทั่วไป ซึ่งพระศาสนจักรเป็นผู้ประกอบบอกเอง

เรื่องที่เราเพิ่งพูดมานี้ สมัชชาพระสังฆราชก็ได้อภิปรายพูดถึงหลายครั้งเช่นกันเราได้พูดถึงเรื่องนี้ 2-3 คำ เพื่อให้ความกระจ่างในคำปราศรัย ที่เรากล่าวกับบรรดาพระสังฆราชองค์ประชุม เมื่อเปิดการประชุม

เราต้องหวังว่า ข้อคิดทั้งหมดนี้จะช่วยให้คำว่า “ช่วยให้เป็นอิสระ (Liberation) ซึ่งมีใช้อยู่แพร่หลายในลัทธิระบอบ หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ นั้นหายคลุมเครือ การช่วยให้เป็นอิสระซึ่งการประกาศพระวรสารประกาศและเตรียมการนั้น เป็นการช่วยให้เป็นอิสระซึ่งพระคริสตเจ้าพระองค์เองได้ทรงประกาศและประทานแก่มนุษย์ด้วยการถวายองค์เป็นบูชา

เสรีภาพในการถือศาสนา

39. ความจำเป็นต้องผดุงสิทธิ์ขั้นมูลฐานทุกอย่างของมนุษย์นั้น ย่อมแยกไม่ได้จากการช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระดังกล่าวนี้ซึ่งเกี่ยวโยงกับการประกาศพระวรสาร และพยายามสร้างโครงร่างที่ปกป้องเสรีภาพต่างๆ ของมนุษย์ ในบรรดาสิทธิขั้นมูลฐานต่างๆ ของมนุษย์นั้น ต้องนับว่าเสรีภาพในการถือศาสนามีความสำคัญเป็นอันดับแรก เมื่อเร็วๆ นี้ เราก็ได้พูดถึงปัญหาเรื่องนี้ เน้นว่า “ทุกวันนี้เอง มีคริสตชนมากเพียงใดที่ถูกรังแกข่มเหงอย่างมีแบบแผนเพราะเหตุที่เขาเป็นคริสตชนเป็นคาทอลิก ความสัตย์ซื่อต่อองค์พระคริสตเจ้าและเสรีภาพในการนับถือศาสนายังคงเป็นความยากแค้นสลดใจในทุกวันนี้ แม้ว่าจะถูกพรางด้วยคำแถลงการณ์อย่างแข็งขันสนับสนุนลัทธิของบุคคลและของสังคม” (พระดำรัสของพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 วันที่ 15 ตุลาคม 1975)